ดนตรีคลาสสิกตะวันตก CLASSICAL MUSIC
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

 

ดนตรีสมัยกลาง

(THE MIDDLE AGES 450-1450)


          ดนตรีในสมัยกลางเป็นสิ่งที่ยากที่จะศึกษาเนื่องจากว่าดนตรีเหล่านั้นได้สูญหายไปหมดแล้ว เสียงตามท้องถนนของพ่อค้าเร่ เสียงร้องเพลงจากทุ่งหญ้าของกรรมกรผู้ใช้แรงงาน การเต้นรำในงานรื่นเริงต่าง ๆ การแสดงดนตรีบนเวที และแม้แต่บทเพลงจากกวีในภาคใต้ของฝรั่งเศส (ในศตวรรษที่ 11-13) ล้วนแล้วแต่มีอายุสั้น แม้แต่ดนตรีที่ยังเหลืออยู่ก็เป็นเพียงแฟชั่นเท่านั้น ซึ่งเหลือทิ้งไว้แต่คำถามที่ไม่มีคำตอบเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของมันประมาณ ค.ศ. 500 วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเปลี่ยนจากยุคมืด (The Dark Ages) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มของ แวนดัล (Vandals, Huns) และ วิซิกอธ (Visigoths) เข้าไปทั่วยุโรป และนำไปสู่จุดจบของจักรวรรดิโรมัน เป็นเวลา 10 ศตวรรษต่อมา


(gallery) 20091227_70132.gif

(gallery) 20091227_70159.gif

        

          สมัยกลาง คือ ระยะเวลาจากคริสต์ศตวรรษที่ 5 จนถึงปลายศตวรรษที่ 14 (ค.ศ.450-1450) สมัยนี้เจริญสูงสุดเมื่อประมาณศตวรรษที่ 12-13 ศาสนามีอำนาจสูงมาก ทั้งด้านปัญญาและสปิริต ทำให้คนสามารถรวมกันได้ หลังจากนั้นก็เริ่มเสื่อมลงแล้วติดตามด้วยสงครามร้อยปีระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสหลังจากสงครามก็มีการแตกแยกเกิดขึ้น ในสมัยนี้เริ่มมีหลักฐานเกี่ยวกับเพลงคฤหัสถ์ (Secular music) ซึ่งเป็นเพลงขับร้องเพื่อความรื่นเริงได้รับความนิยมและแพร่หลายมาก ในประเทศต่าง ๆ ทางยุโรปตะวันตก นอกเหนือไปจากเพลงโบสถ์ (Church music) ซึ่งเพลงทั้งสองประเภทนี้มีลักษณะต่างกันคือเพลงโบสถ์ซึ่งมีหลักฐานมาก่อน มีลักษณะเป็นเพลงร้องเสียงเดียวมักไม่มีดนตรีประกอบไม่มีอัตราจังหวะ ร้องเป็นภาษาละตินมีช่วงกว้างของทำนองจำกัด บันทึกเป็นภาษาตัวโน้ตที่เรียกว่า Neumatic notation เพลงคฤหัสถ์หรือเพลงที่ชาวบ้านร้องเล่นกันนอกวัด มีลักษณะเป็นเพลงร้องเสียงเดียว ที่มักจะมีดนตรีเล่นประกอบเป็นเพลงที่มีอัตราจังหวะปกติมักเป็นในจังหวะ 3/4 มีจังหวะสม่ำเสมอเป็นรูปแบบซ้ำทวน ทำนองเป็นตอน ๆ มีตอนที่เล่นซ้ำ ลักษณะที่กล่าวนี้เป็นลักษณะของเพลงในสมัยกลางตอนต้น ๆ ในระยะตอนปลายสมัยกลางคือราว         ค.ศ. 1100-1400 นั้น ลักษณะของดนตรีเปลี่ยนแปลงพัฒนาไป ซึ่งมีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจ
ช่วงเวลาประมาณ 300 ปี ระหว่างคริสตศตวรรษที่ 12-14 ดนตรีในวัดมีรูปแบบเปลี่ยนไปจากตอนต้นของสมัยกลาง กล่าวคือ ในราวคริสตศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา เพลงแชนท์ ซึ่งรู้จักกันในนามของเกรเกอเลียนแชนท์ (Gregorian Chant) ได้รับการพัฒนามาเป็นรูปของการขับร้องแบบสอดประสานหรือ โพลีโฟนี (Polyphony) จนถึงคริสตศตวรรษที่ 13 ลักษณะของเพลงที่สำคัญในสมัยนี้ คือ ออร์แกนนั่ม (Organum) คือ การร้องในลักษณะของการร้องประสานเสียงสองแนว โดยใช้ระยะขั้นคู่เสียงคู่สี่เป็นหลักและเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน ระยะต่อมาการเคลื่อนที่เริ่มไม่จำกัดทิศทางและท้ายที่สุดมีออร์แกนนั่มแบบเสียงที่สอง (เสียงต่ำ) ร้องโน้ตยาว ๆ เพียง 1 ตัว ในขณะที่เสียงหนึ่ง (เสียงสูง) ร้องโน้ต 5-10 ตัวเนื่องจากออร์แกนนั่มเป็นเพลงที่พัฒนามาจากดนตรีในวัดหรือเพลงโบสถ์จึงเป็นเพลงที่ไม่มีอัตราจังหวะในระยะแรกต่อมาจึงเริ่มมีลักษณะของอัตราจังหวะ กล่าวได้ว่าในช่วงเวลานี้สิ่งสำคัญเกิดขึ้น คือการร้องแบบสองทำนองเริ่มเกิดขึ้นแล้วอย่างเด่นชัด เป็นลักษณะของการสอดประสานในสมัยกลางนี้ทางดนตรีแบ่งเป็นสมัยย่อย ๆ ได้สองสมัย คือ สมัยศิลป์เก่า (Ars Antiqua) และสมัยศิลป์ใหม่ (Ars Nova)


สมัยศิลป์เก่า (ARS ANTIQUE)

          ดนตรีในช่วงเวลาจากกลางศตวรรษที่ 12 ถึงปลายศตวรรษที่ 13 บางทีก็เป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า Ars Antique (The old Art) ซึ่งเป็นชื่อที่นักดนตรีรุ่นศตวรรษที่ 14 ตั้งชื่อย้อนหลังให้ ลักษณะของดนตรีในสมัยศิลป์เก่ามีลักษณะเป็นการสอดประสานแล้ว ซึ่งเรียกว่า ออร์แกนนั่มผู้นำ คือ กลุ่มนอเตอร์ เดม (Notre Dame) นอกจากนี้ยังเกิดการประพันธ์ในลักษณะใหม่ขึ้นเรียกว่า โมเต็ต (Motet) คือ การนำทำนองจากเพลงแชนท์มาเป็นแนวเสียงต่ำหรือแนวเบส และเพิ่มเสียง 2 เสียงเข้าไปโดยเสียงที่เพิ่มมีจังหวะการเคลื่อนที่ของตัวโน้ตเร็วกว่าเสียงต่ำที่มีตัวโน้ตจังหวะยาวกว่า บางครั้งใช้เครื่องดนตรีเล่นแทนคนร้อง และมีเพลงอีกลักษณะหนึ่งเกิดขึ้น คือ คอนดุคตุส (Conductus) คือ เพลงในลักษณะเดียวกับโมเต็ต แต่แนวเสียงต่ำแต่งขึ้นใหม่ มิได้นำมาจากทำนองของเพลงแชนท์แบบโมเต็ต ส่วนเนื้อหาของเพลงมีต่าง ๆ กันออกไปทั้งเกี่ยวกับศาสนา และเรื่องนอกวัด เช่น เรื่องการเมือง การเสียดสีสังคมเป็นต้น ลักษณะเด่นของ
สมัยนี้คือ เริ่มมีการแต่งเพลงสองแนวจนถึงสี่แนว ในบางครั้งเพลงเริ่มมีอัตราจังหวะ ปกติมักเป็น 3/4,6/8หรือ 9/8 ปรากฏให้เห็นผู้ประพันธ์เพลงที่ควรรู้จัก คือ เลโอนิน และเพโรตินซึ่งเป็นนักประพันธ์เพลงเกี่ยวกับศาสนา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักร้องที่เล่นเพลงพื้นบ้านหลายกลุ่ม ซึ่งมักจะร้องแบบแนวเสียงเดียว ได้แก่ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ทรูบาดูร์” (Troubadours) อยู่ในแคว้นโปรวังซ์ (Provence) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 จนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13
กลุ่มนี้ส่วนมากเป็นชนชั้นผู้ดีผู้มีอันจะกิน และ “ทรูแวร์”(Trouveres) อยู่ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส กลุ่มนี้เจริญขึ้นหลังจากกลุ่มทรูบะดูร์เล็กน้อย ส่วนในประเทศเยอรมันมีพวกมินเนซิงเกอร์ (Minnesingers)
เป็นผู้เผยแพร่เพลงขับร้องที่พรรณนาถึงความกล้าหาญของเหล่าอัศวินหรือรำพันถึงความรักที่หวานซึ้ง


(gallery) 20091227_70437.jpg

 

สมัยศิลป์ใหม่ (ARS NOVA)

          Ars Nova แปลว่า The New Art เป็นชื่อที่ศิลปินในศตวรรษที่ 14 ตั้งขึ้นเพื่อเรียกดนตรีของพวกตน ซึ่งแตกต่างจากดนตรีในศตวรรษก่อนหลาย ๆ อย่างเช่น นิยมใช้จังหวะคู่ (Duple time) 2/4 มากกว่าอัตรา 3 จังหวะ 3/4 แบบเดิม และใช้กระสวนจังหวะใหม่ ๆ แทน เริ่มมีการประพันธ์เพลงในรูปใหม่ เช่น มาดริกาล (Madrigal) เป็นโพลีโฟนี (Polyphony) เพลงที่มีรูปแบบการซ้ำทวนของทำนองหนึ่งและจบลงอีกทำนองหนึ่ง เช่น AAB หรือ AAAB ประกอบด้วยแนวเสียง 2-3 แนว มีกำเนิดในประเทศอิตาลี เพลงโมเต็ต มีการเปลี่ยนรูปแบบ โดยแนวเสียงต่ำที่นำมาจากแชนท์มีการเปลี่ยนลักษณะของจังหวะไปไม่ใช่เป็นเพียงโน้ตจังหวะเท่ากัน ในอัตรายาว ๆ แบบโมเต็ตในสมัยศิลป์เก่า

เครื่องดนตรี

- เครื่องสายที่บรรเลงด้วยการใช้คันชัก ได้แก่ ซอวิแอล (Vielle) ขนาดต่าง ๆ ซอรีเบ็ค (Rebec)
ซึ่งตัวซอมีทรวดทรงคล้ายลูกแพร์ และซอทรอมบา มารินา (Tromba marina) ซึ่งเป็นซอ ขนาดใหญ่ มีสายเพียงสายเดียวหรือถ้ามีสองสายก็เทียบเสียงระดับเดียวกัน (Unison) และผู้บรรเลงจะต้องยืนสีซอ


(gallery) 20091227_70233.jpg


- เครื่องสายที่บรรเลงด้วยการใช้นิ้วดีด ได้แก่ ลิวต์ (Lute)

 

(gallery) 20091227_70299.jpg  (gallery) 20091227_70312.jpg 

ขลุ่ยรีคอร์เดอร์, ปี่ชอม


- เครื่องเป่า ได้แก่ ขลุ่ยรีคอร์เดอร์ (Recorder) ปี่ชอม (Shawm) แตรฮอร์นและทรัมเปต


 

ประวัติผู้ประพันธ์เพลง


1. เลโอนิน (Leonin ประมาณ 1130-1180)
     เป็นผู้ควบคุมวงขับร้องประสานเสียงของกลุ่มนอเตอร์ เดมณ กรุงปารีส เขารวบรวมเพลงออร์แกนนั่ม ซึ่งเป็นเพลงโบสถ์ในพิธีต่าง ๆ ตลอดทั้งปีไว้ในหนังสือชื่อ “Great Book of Organum” บางครั้งชื่อของ   เลโอนินเรียกเป็นภาษาละตินว่า “ลีโอนินัส”

2. เพโรติน (Perotin หรือ Perotinus Magnus ประมาณ 1160-1220)
     เป็นผู้ควบคุมวงนักร้องประสานเสียงและผู้ประพันธ์เพลงของกลุ่มนอเตอร์ เดม ณ กรุงปารีส เป็นรุ่นน้องของเลโอนิน ทั้งคู่เป็นผู้บุกเบิกรูปแบบการประพันธ์เพลงแบบการสอดประสานทำนองทั้งเลโอนินและเพโรติน เป็นผู้ประพันธ์เพลงในสมัยศิลป์เก่า ซึ่งเป็นแนวการประพันธ์แตกต่างจากสมัยศิลป์ใหม่

3. จาคาโป ดา โบโลนญา (Jacapo da Bologna)
     เป็นผู้ประพันธ์เพลงที่สร้างรูปแบบให้กับสมัยศิลป์ใหม่คนสำคัญคนหนึ่ง ในช่วงที่เขาอยู่ในกรุงมิลานได้ผลิต ผลงานมากมาย ได้แก่ เพลงมาดริกาล 30 บท คาทชา (Caccia) 1 บท และโมเต็ต 1 บท นอกจานี้ยังประพันธ์เพลงลาอูเด (Laude) ซึ่งเป็นเพลงสำคัญของชาวอิตาเลียนแบบหนึ่ง จาคาโปเป็นผู้ประพันธ์เพลงที่พยายามพัฒนารูปแบบของเพลงแบบการสอดประสานทำนองคนสำคัญของอิตาลี ผลงานของจาคาโปมีจุดเด่นที่แนวทำนองที่เด่นชัดแสดงออกถึงจินตนาการ การใช้จังหวะในลักษณะต่าง ๆและการเคลื่อนที่ไปของแนวเสียงต่าง ๆ ที่ไม่ขึ้นแก่กันในลักษณะของความกลมกลืน

4. แลนดินี (Francesco Landini ประมาณ 1325-1397)
     ผู้ประพันธ์เพลงและนักออร์แกนเป็นบุตรของจิตรกร แลนดินีตาบอดมาตั้งแต่เด็กจึงหันมาศึกษาดนตรีมีชื่อเสียงในฐานะ นักออร์แกนที่สามารถเล่นได้อย่างไพเราะเต็มไปด้วยเทคนิคซึ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังทั่วไป แนวการประพันธ์ของแลนดินีมีลักษณะของความเป็นตัวของตัวเองมาก การถ่ายทอดอารมณ์ในเพลงมีมากกว่าผู้ประพันธ์เพลงสมัยก่อนหน้าเขา บทเพลงร้องหลายแนว ประเภทเพลงคฤหัสถ์มีชื่อเสียงและเป็นต้นกำเนิดของเพลงมาดริกาลของสมัยศิลป์ใหม่ แลนดินีจัดเป็นผู้ประพันธ์เพลงที่มีผลงานมากมาย หนึ่งในสามของบทเพลงที่ผู้ประพันธ์เพลงชาวอิตาเลียนประพันธ์ไว้ ในสมัยนี้เป็นบทประพันธ์เพลงของแลนดินี

5. มาโชท์ (Guillaume de Machaut, ประมาณ 1300-1377)
     ผู้ประพันธ์เพลงสำคัญในสมัยศิลป์ใหม่ มาโชท์เป็นพระชาวฝรั่งเศส เพลงที่ประพันธ์ส่วนใหญ่จึงเป็นเพลงโบสถ์ โดยเฉพาะเพลงแมสของมาโชท มีชื่อเสียงมาก นอกจากนี้มาโชท์ยังมีผลงานเพลงคฤหัสถ์จำนวนหนึ่งด้วย ผลงานของมาโชท์เต็มไปด้วยความประณีตในการใช้รูปแบบของการสอดประสานทำนอง


(gallery) 20091227_70347.gif

 


กลับสู่หน้าหนัก

 

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 54,326 Today: 3 PageView/Month: 113

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...